ธุรกิจและโรงงานสื่อสิ่งพิมพ์ในอดีตและปัจจุบัน

ธุรกิจและโรงงานสื่อสิ่งพิมพ์ในอดีตและปัจจุบัน

การพิมพ์ในเมืองไทยได้รับเทคโนโลยีจากชาวตะวันตกตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ชื่อ หลุยส์ ลาโน ได้ตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกขึ้นในปี พ.ศ.2205 เพื่อพิมพ์คำสอนศาสนาคริสต์ ไวยากรณ์ไทยและบาลี พจนานุกรมไทย ต่อมาได้มีการตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระราชวังที่ลพบุรี การพิมพ์ในสมัยนั้นใช้ตัวอักษรโรมันมาเรียงพิมพ์ ส่วนภาษาไทยใช้ไม้มาแกะเป็นหน้าทั้งหน้าใช้เป็นแม่พิมพ์ ในพ.ศ.2229 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ส่งคณะทูตนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรียังประเทศฝรั่งเศส  เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้มีโอกาสศึกษางานที่โรงพิมพ์หลวงของฝรั่งเศสและได้กลับมาพัฒนาการพิมพ์ในเมืองไทย การพิมพ์ไทยได้หยุดชะงักไปในสมัยสมเด็จพระเพทราชาในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บาทหลวงการ์โนลต์ ได้เข้ามาประเทศไทยและได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในโบสถ์ซันตาครูส ฝั่งธนบุรี ในปี พ.ศ. 2339 ในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็มีการตั้งโรงพิมพ์เพิ่มขึ้นอีก โดยโรงพิมพ์ส่วนใหญ่มีชาวตะวันตกเป็นเจ้าของ และเริ่มมีที่เป็นของคนไทยคือ โรงพิมพ์วัดบวรนิเวศวิหารของเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเจ้าฟ้ามงกุฎได้ลาสิขาบทมาขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นอีกแห่งในเขตพระบรมมหาราชวัง ทรงตั้งชื่อว่า  “โรงอักษรพิมพการ”  ถือเป็นโรงพิมพ์หลวงในสมัยนั้น พระองค์ยังเป็นผู้นำการพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์เป็นหิน มาใช้ในเมืองไทยครั้งแรก ทำให้การพิมพ์ในเมืองไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศ พระองค์จึงทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งการพิมพ์ไทย” ในยุคนั้น หมอแดน บีช บรัดเลย์ ได้รับกิจการโรงพิมพ์จากคณะมิชชันนารีมาดำเนินการต่อและได้ทำในเชิงการค้า จึงถือเป็นบุคคลแรกในประเทศไทยที่ทำโรงพิมพ์เชิงธุรกิจ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้นและนำมาใช้ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2435 ส่วนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตกระดาษในเชิงอุตสาหกรรมขึ้น กิจการโรงพิมพ์ได้เจริญเติบโตและมีการเปิดโรงพิมพ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงปัจจุบัน

โรงพิมพ์ในปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีทัดเทียมกับต่างประเทศ คุณภาพของงานพิมพ์ก็ไม่ด้อยไปกว่าของโรงพิมพ์ในประเทศชั้นนำทั้งหลาย มีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัย และระยะเวลาในการผลิตสั้นลงกว่าโรงพิมพ์ในยุคก่อน ๆ ราคาค่าจ้างพิมพ์ต่ำลงกว่าแต่ก่อน และถือว่าเป็นราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องมาจาการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง การเจริญเติบโตของโรงพิมพ์ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของตลาดสำหรับงานพิมพ์ประเภทรับจ้าง ส่วนงานพิมพ์ที่เป็นของโรงพิมพ์เอง เช่น นิตยสาร หนังสือต่าง ๆ การเติบโตก็ขึ้นอยู่กับการทำตลาดของโรงพิมพ์เอง

จุดแข็งที่สำคัญของไทย คือคุณภาพการพิมพ์ที่ดี

ธุรกิจการพิมพ์ในประเทศไทยเป็นทั้งธุรกิจการผลิตและการบริการที่มีรายได้ดีพอสมควร ทำให้มีการพัฒนาระบบการพิมพ์ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ธุรกิจการพิมพ์มีหลายประเภท เช่น การผลิตหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ การจัดทำต้นฉบับ (เป็นหน้าที่โดยตรงของนักออกแบบนิเทศศิลป์) การทำแม่พิมพ์ โรงพิมพ์ซึ้งต้องมีการประเมินราคา โดยควรจะประเมินราคาตามสภาพที่เป็นจริง มีระบบหรือวิธีการประเมินราคาที่เหมาะสม และมีผลกำไรพอที่จะทำให้เจริญเติบโตหรือสามารถดำเนินงานต่อไปได้

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยได้รุกเข้าไปลงทุนและขยายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้าน นับว่าเป็นก้าวสำคัญอีกระดับ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการขยายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้านจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รองรับปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยแนวโน้มและทิศทางจะยังอยู่ในขาขึ้นและโตตามศักยภาพของผู้บริโภค สอดคล้องกับการขยายตัวของโมเดิร์นเทรดที่เพิ่มจำนวนขึ้นและการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เช่น เทสโก้โลตัส หรือร้านค้าคอนวีเนียนสโตร์ 7-อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท และลอว์สันจากญี่ปุ่น เป็นต้น

ศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจการพิมพ์

ในด้านปัจจัยการผลิตได้เปรียบด้านวัตถุดิบ คือ กระดาษ ด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของเครื่องจักรและวัสดุหมึกพิมพ์ ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ในด้านการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ธุรกิจโรงพิมพ์ขนาดเล็กมีการแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เข้าง่ายและออกง่าย และธุรกิจโรงพิมพ์ขนาดใหญ่มีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ จากศักยภาพในการแข่งขัน จุดแข็งและโอกาสทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจการพิมพ์สามารถที่จะผลักดันให้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงและขยายไปยังต่างประเทศต่อไปได้

ปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจการพิมพ์คือ ต้นทุนและกำไร

ถ้ามีการจัดการที่ดีมีการประเมินต้นทุน ประเมินราคา ค่าแรง อย่างถูกต้อง แม่นยำ ก็สามารถกำหนดกำไรได้ต้นทุนการผลิตในธุรกิจการพิมพ์มี 2 ลักษระคือ ต้นทุนที่เป็นวัสดุสิ่งของ เช่น แท่นพิมพ์ แม่พิมพ์ กระดาษหมึกพิมพ์ และอุปกรณืต่างๆที่สามารถประเมินราคาต่อหน่วยได้ และต้นทุนที่เป็นค่าสึกหรอ ค่าดูแล ค่าควบคุม ค่าบำรุงรักษาซึ่งไม่สามารถตีราคาต่อหน่วยได้ การประเมินราคาควรนำต้นทุนทั้งสองมารวมกันด้วย ในส่วนของลูกค้า การคิดราคาสิ่งพิมพ์ทำได้ทั้งก่อนพิมพ์โดยการประเมินราคากว้างๆ การเสนอราคา ลูกค้าสามารถต่อรองได้